ตักบาตรน้ำผึ้ง
พลิกฟื้นประเพณี ย้อนรอยวัฒนธรรม
วัดภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
เวลา | กิจกรรม | หมายเหตุ |
๐๗.๐๐ น. | บูชาพระ กราบพระ สมาทานศีล | กำหนดการต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม |
กล่าวคำถวายน้ำผึ้ง ตักบาตรน้ำผึ้ง | ||
ถวายภัตตาหารคาว - หวาน | ||
ฟังพระธรรมเทศนาอานิสงส์ ๑ กัณฑ์ | ||
ถวายกัณฑ์เทศน์ | ||
ตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศล รับพร | ||
ทาน "ข้าวก้นบาตร" ร่วมกัน | ||
๑๘.๓๐ น. | สวดมนต์ทำว้ตรเย็น |
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
ความเป็นมาประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวรามัญ(มอญ) ปฏิบัติเพื่อเป็นการบูชาพระสงฆ์ การตักบาตรน้ำผึ้งนั้นเชื่อกันว่า มีอานิสงส์มากเพราะพระสงฆ์จะเก็บน้ำผึ้งไว้เพื่อใช้เป็นยาในคราวจำเป็นเนื่องจากเป็นส่วนผสมของยาโบราณที่สำคัญ พระสงฆ์ไม่สามารถจัดหามาเองได้ และในสมัยพุทธกาล มีสัตว์น้อยใหญ่นำผลไม้และน้ำผึ้งมาถวาย เพื่อให้พระองค์ได้เสวยเพื่อประทังชีวิต มนุษย์จึงถือว่า น้ำผึ้งเป็นทิพย์โอสถที่สามารถนำมาบริโภคบำรุงชีวิตให้แข็งแรงและยืดยาวโดยปราศจากโรคภัย เพราะน้ำผึ้งเป็นสิ่งมีคุณค่ามาแต่โบราณ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งจึงถือกำเนิดขึ้นมาเป็นตำนานและความเชื่อ ดังจะเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
ความเชื่อในเรื่องการถวายน้ำผึ้งแก่พระสงฆ์ สืบเนื่องมาจากตำนานในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า มีพระปัจเจกพุทธเจ้า รูปหนึ่งประสงค์ที่จะได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถเพื่อบำบัดอาการอาพาธ วันหนึ่งได้บิณฑบาตในชนบทใกล้ชายป่า ขณะที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังโปรดสัตว์อยู่นั้น ได้พบชายชาวบ้านป่าเกิดกุศลจิตขึ้นกับชายผู้นั้นและหวังที่จะถวายทานแค่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ด้วยตนเองยากจนไม่มีอาหารอื่นใดจะถวาย นอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง ด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นของชายผู้นั้น เมื่อรินน้ำผึ้งลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า เกิดปรากฎการณ์อัศจรรย์ คือ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตร ขณะนั้นมีหญิงชาวบ้านครหนึ่งกำลังทอผ้า เห็นน้ำผึ้งล้นบาตร ด้วยจิตศรัทธาในพระปัจเจกพุทธเจ้า เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระ จึงรีบนำผ้าที่ทอแล้วถวายเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้น ในการถวายน้ำผึ้งของชายผู้นั้น เขาได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เกิดเป็นผู้มั่งคั่ง เป็นผู้มีอำนาจ ส่วนหญิงที่ถวายผ้า อธิษฐานขอเกิดเป็นผู้มีความงามและมีโภคทรัพย์ ต่อมาเมื่อทั้งสองมรณะไปแล้ว ได้เกิดใหม่ในโลกมนุษย์ ชายที่ถวายน้ำผึ้งได้บังเกิดเป็นพระราชา ผู้มีความเข็มแข็งและมั่งคั่ง ส่วนหญิงที่ถวายผ้าทอได้บังเกิดเป็นธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่งมีความงามและความมั่งคั่งเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกตำนานที่เกี่ยวกับพระฉิมพลีหรือพระสิวลีว่า ในอดีตกาลที่มีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระวิปัสสี พระวิปัสสีได้ถือกำเนิดเป็นชาวบ้านในชนบท วันหนึ่งได้เดินทางไปในเมืองแต่ระหว่างทางกลางป่าได้พบรวงผึ้ง จึงไล่ตัวผึ้งให้หนี้ไปแล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้งเข้าไปในเมือง ขณะนั้นพระราชาและชาวเมืองกำลังแข่งขันทำบุญถวายทานแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ โดยจัดสิ่งของวัตถุทานอันประณีตถวายแข่งขันถึง ๖ ครั้ง ก็ไม่มีใครชนะ ชาวเมืองจึงช่วยกันและให้คนไปที่ประตูเมืองว่าจะมีใครนำสิ่งของอันนอกเหนือจากที่มีอยู่มาขายบ้าง เพราเกรงว่าพระราชาจะซื้อสิ่งของเหล่าแล้วนำมาถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า แล้วฝ่ายตนก็จะแพ้ ขณะนั้นชาวบ้านนอกที่ถือรวงผึ้งเดินเข้าประตูเมืองมา คนเฝ้าประตูเมืองเห็นชายที่ถือรวงผึ้งเข้ามาก็ขอซื้อรวงผึ้งจากชายบ้านนอกผู้นั้น ชายบ้านนอกจึงเกิดความสงสัย จึงถามขึ้นและคนเฝ้าประตูเมืองจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ชายบ้านนอกจึงไม่ยอมขายและประสงค์ขอร่วมถวายทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วย ชาวเมืองต่างก็ปลื้มปีติและยินดีกับเจ้าของรวงผึ้ง จึงช่วยกันนำรวงผึ้งมาบีบคั้นใส่ถาดทองคำใบใหญ่ผสมกับ งา เนย คลุกเคล้าจนรสดีเสร็จแล้วนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและพระสงฆ์อย่างทั่วถึง ด้วยอานิสงส์ของการถวายทานของชายบ้านนอก เมื่อสิ้นอายุไขได้บังเกิดในเทวโลกท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่นาน จึงจุติมาเป็นพระราชาในกรุงพาราณสี และเมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ ก็ได้มาเกิดเป็นพระราชกุมารในราชวงศ์ศากยราช มีพระมารดาทรงพระนามว่า สุปปวาสา บันดาลโชคลาภให้แก่พระบิดาและพระมารดาเป็นอันมาก เมื่อประสูติแล้วจึงได้รับพระนามว่า สิวลีกุมาร เมื่อเจริญวัยแล้วได้ออกผนวชในสำนักของพระสารีบุตร และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ที่มาของข้อมูล - ตักบาตรน้ำผึ้ง ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม